ข้อมูลจังหวัดนครราชสีมา
ประวัติความเป็นมาของจังหวัด
เดิมเป็นเมืองโบราณในอาณาจักรไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบัน 31 กิโลเมตร เรียกว่า "เมืองโคราฆะปุระ" หรือ "โคราช" กับ "เมืองเสมา" ซึ่งทั้ง 2 เมือง เคยเจริญรุ่งเรือง ในสมัยขอม แต่ในปัจจุบันเป็นเมืองร้างตั้งอยู่ริมลำตะคอง
สมัยกรุงศรีอยุธยา
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 - 2231) ได้โปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นใน พื้นที่ตัวเมืองปัจจุบัน โดยเอาชื่อ "เมืองโคราฆะปุระ"กับ "เมืองเสมา" มา ผูกเป็นนามเมืองใหม่เรียกว่า "เมืองนครราชสีมา" แต่คนทั่วไป เรียกว่า "เมืองโคราช"
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ผู้สำเร็จราชการเมืองมียศ เป็นเจ้าพระยา โดย เจ้าพระยานครราชสีมาคนแรกชื่อ ปิ่น ณ ราชสีมา และในรัชกาล นี้ เมืองนครราชสีมา ได้นำช้างเผือก 2 เชือก ขึ้นน้อมเกล้าถวาย ต่อมา ในปี พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ก่อการกบฏ ยก กองทัพ มาตีเมืองนครราชสีมาและกวาดต้อน พลเมือง ไปเป็นเชลย คุณหญิงโม (ภรรยาปลัดเมือง นครราชสีมา(พระสุริยเดชวิเศษ ฤทธิ์ทศทิศวิชัย)) ผู้รักษา เมืองแสร้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจ ทหารลาว เมื่อถูกกวาดต้อนมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ใน เขตอำเภอพิมาย ก็หยุดพักกลางทางพอได้โอกาส คุณหญิงโม ก็จัด กองทัพโจมตีกองทัพเวียงจันทน์ แตกพ่ายไป วีรกรรมที่คุณหญิงโมได้ประกอบขึ้นนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา คุณหญิงโม ดำรง ฐานันดรศักดิ์เป็น "ท้าวสุรนารี" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมหัวเมืองในเขตที่ราบสูงให้นครราชสีมาเป็นที่ว่าการมณฑล ลาวกลาง ในปี พ.ศ.2434 (ร.ศ.110)
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
ขนาดที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดนครราชสีมาตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนที่ราบสูงโคราช ละติจูด 15 องศาเหนือ ลองติจูด 102 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 187 เมตร ตัวจังหวัดอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ 255 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟ 264 กิโลเมตร มีพื้นที่ 20,493.964 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 12,808,728 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี
สภาพภูมิประเทศของจังหวัดมีทั้งที่เป็นภูเขาสูง ที่ราบลุ่ม พื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นและพื้นที่ ลูกคลื่นลอนลึก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 บริเวณ คือ
1) บริเวณเทือกเขาและที่สูงทางตอนใต้ของจังหวัดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 250 เมตร อยู่ในบริเวณอำเภอปากช่อง อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรีและอำเภอเสิงสาง เทือกเขานี้เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสายที่ไหลไปทางตะวันออกของภาค ได้แก่ แม่น้ำมูล ลำแชะ ลำพระเพลิง และลำปลายมาศ พื้นที่ระหว่างเทือกเขาส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลึกและ ลูกคลื่นลอนตื้น ตอนล่างของหุบเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก ทำให้มีการ ชะล้างพังทลายของหน้าดินในบริเวณนี้ค่อนข้างสูง
2) บริเวณที่สูงทางตอนกลางของจังหวัดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200 -250 เมตร อยู่ในเขตอำเภอด่านขุนทด อำเภอสีคิ้ว อำเภอเทพารักษ์ อำเภอพระทองคำ ตอนล่างของอำเภอโนนไทย อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง อำเภอสูงเนิน ตอนบนของอำเภอปักธงชัยและอำเภอครบุรี อำเภอโชคชัย อำเภอหนองบุญมาก อำเภอจักราช และอำเภอเสิงสาง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลูกคลื่นลอนตื้นยกเว้นบริเวณใกล้เชิงเขามีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนลึก พื้นที่บางส่วนเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย ได้แก่ ลำแชะ ลำพระเพลิง ลำตะคอง ลำน้ำมูลและลำจักราช
3) พื้นที่ลูกคลื่นทางตอนเหนือของจังหวัด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร อยู่ในเขตอำเภอขามสะแกแสง ตอนบนของอำเภอโนนไทย อำเภอคง ทางทิศตะวันตกของอำเภอบัวใหญ่ อำเภอบ้านเหลื่อม อำเภอห้วยแถลง และอำเภอชุมพวง อำเภอลำทะเมนชัย มีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นที่สูงสลับที่นา บางตอนเป็นพื้นที่ราบลุ่มบริเวณริมฝั่งแม่น้ำลำเชียงไกร และลำปลายมาศ
4) บริเวณที่ราบลุ่มทางตอนเหนือของจังหวัด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า 200เมตร อยู่ในเขตอำเภอบัวใหญ่ อำเภอคง อำเภอโนนสูง อำเภอประทาย อำเภอพิมาย อำเภอสีดา อำเภอบัวลาย และอำเภอเมืองยาง มีลักษณะเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้น และมีที่ราบลุ่มบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ
ตราสัญลักษณ์
รูปท้าวสุรนารี และซุ้มประตูชุมพล แสดงถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของท้าวสุรนารีที่กอบกู้เมืองนครราชสีมา
จากกองทัพของเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์
ธงประจำจังหวัด
รูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหน้าประตูชุมพล ในพื้นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแสด
ต้นไม้ประจำจังหวัด/ดอกไม้ประจำจังหวัด
ต้นสาธร (เดิมคือต้นราชพฤกษ์) ต้นไม้พระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคล พระราชทานประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และจังหวัดได้ทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา)
คำขวัญประจำจังหวัด
" เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี
หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน "